วันเสาร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2552

(คลิ๊กที่รูปภาพเพื่อดูภาพเต็ม)
ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงที่ตั้งโรงเรียนบ้านห้วยนกกก

GIS คือ ...
ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ หรือ Geographic Information Systems (GIS) คือ ระบบเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงพื้นที่ และเชื่อมโยงและผสมผสานข้อมูลทั้งข้อมูลเชิงพื้นที่และข้อมูลเชิงบรรยาย ที่เก็บไว้ในฐานข้อมูล สามารถดัดแปลงแก้ไขและวิเคราะห์ และแสดงผลการวิเคราะห์ และการนำเสนอข้อมูล เพื่อให้เห็นมิติและความสัมพันธ์ด้านพื้นที่ของข้อมูล ซึ่งมีส่วนช่วยให้เกิดความเข้าใจปัญหา และประกอบการตัดสินใจในการปัญหาเกี่ยวกับการวางแผนการใช้ทรัพยากรเชิงพื้นที่
ทำไมต้องGIS
เนื่องจากชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ โดยทั่วไปจะมีความเกี่ยวข้องกับภูมิศาสตร์ไม่มากก็น้อย การตัดสินใจใดๆก็ตาม มักจะมีส่วนเกี่ยวข้องทางด้านภูมิศาสตร์เสมอ ดังนั้นเพื่อตอบคำถามที่ว่าทำไมต้อง GIS นั้นพอจะกล่าวได้ว่าเทคโนโลยี GIS สามารถช่วยในการจัดการและบริหารข้อมูลเชิงพื้นที่ พร้อมทั้งทำให้สามารถเข้าใจในความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆในเชิงพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นรากฐานที่ดีในการตัดสินใจอย่างฉลาดการนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในเทคโนโลยี GIS ทำให้ผู้ใช้สามารถลดเวลาที่ต้องเสียไปในการวิเคราะห์ข้อมูลได้มาก เช่นเดียวกับการที่สำนักพิมพ์นำเสนอข่าวสารต่างๆ ผ่านทางมวลชนได้อย่างรวดเร็วและในราคาถูก เทคโนโลยี GIS ก็จะสามารถทำให้ข้อมูลเชิงพื้นที่เป็นที่แพร่หลายและแพร่กระจายไปสู่ผู้ใช้ต่าง ๆ ได้ ในขณะเดียวกันก็ช่วยลดต้นทุนของการผลิตการปรับปรุง และการเผยแพร่ข้อมูลนอกจากนี้ เทคโนโลยี GIS ยังสามารถเปลี่ยนรูปแบบของการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่โดยเปลี่ยนวิธีการนำเสนอและการใช้ประโยชน์ข้อมูลเชิงพื้นที่เหล่านั้น ข้อมูลเชิงพื้นที่นับว่าเป็นข้อมูลที่สามารถดัดแปลงให้มีความเหมาะสมกับความต้องการด้านต่างๆได้ง่ายโดยการนำเสนอ เทคโนโลยี GIS เข้ามาช่วยเมื่อเปรียบกับการใช้แผนที่กระดาษเห็นได้ว่าการใช้ GIS มีข้อได้เปรียบมากกว่า เป็นต้นว่า ความสามารถในการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลเชิงพื้นที่ให้มีความทันสมัยได้ง่ายกว่า หรือความสามารถในการรวบรวมข้อมูลเชิงพื้นที่ประเภทต่างๆและเก็บไว้ในชุดเดียวกัน ความสามารถในการปรับข้อมูลเชิงพื้นที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงและนำมาผลิตเป็นแผนที่ ซึ่งสามารถผลิตฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ที่สามารถแสดงขั้นตอนของการเปลี่ยนแปลงได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการวิเคราะห์และตรวจสอบข้อมูล และทำให้กระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลบรรลุผลอย่างรวดเร็ว ผู้ที่ทำหน้าที่ในการตัดสินใจจะสามารถวางแผนแล้วเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้โดยเปลี่ยนรูปแบบของการวิเคราะห์เป็นไปในแบบต่างๆซึ่งผลที่ได้จะสามารถนำเสนอในหลายรูปแบบ ในทางตรงกันข้าม การวิเคราะห์และการตรวจสอบข้อมูลโดยอาศัยการทำด้วยมือ จะทำให้เสียค่าใช้จ่ายสูงเมื่อผู้วิเคราะห์ต้องการนำเสนอผลงานในลักษณะเช่นนี้
ปัจจุบัน สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เปลี่ยนรูปแบบได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีนำมาใช้รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเมืองมีอยู่สอดคล้องกับความต้องการทั้งด้านสังคมและการปกครอง ในสังคมที่ต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีความซับซ้อนและมีการเปลี่ยนอย่างรวคเร็ว การเข้ามาของเทคโนโลยี GIS ประกอบกับระบบคอมพิวเตอร์ Hardware และ Software ที่มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้เทคโนโลยี GIS เป็นเรื่องกล่าวถึงฐานะที่เป็นเครื่องมือที่มีคุณสมบัติในการบริหาร และจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิผล เทคโนโลยี GIS ไม่ใช่เพียงแฟชั่นที่ผ่านไป แต่เทคโนโลยี GIS เป็นเครื่องมือที่ทำให้ทราบถึงข้อมูลเชิงพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลง หรือที่ได้เปลี่ยนแปลงไปได้ในทุกวันนี้

วันศุกร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2552

สภาพปัจจุบัน ปัญหาและความต้องการ
ปีงบประมาณ 2552

ที่ตั้งโรงเรียนบ้านห้วยนกกก
โรงเรียนบ้านห้วยนกกก ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 หมู่บ้านห้วยนกกก ตำบลแม่หละ อำเภอท่าสองยาง
จังหวัดตาก ได้เริ่มก่อตั้งเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2515 ในพื้นที่ 22 ไร่ 1 งาน 49 ตารางวา
เด็กนักเรียนส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงมีความเป็นอยู่ค่อนข้างยากจน
ลักษณะภูมิประเทศโรงเรียนบ้านห้วยนกกก มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
ทิศเหนือ ติดป่าสงวนแห่งชาติ
ทิศใต้ ติดถนนสาย แม่สอด - แม่สะเรียง
ทิศตะวันออก ติดสำนักสงฆ์บ้านห้วยนกกก
ทิศตะวันตก ลำห้วยนกกก
การคมนาคมทางบกใช้เส้นทางถนนสายแม่สอด - แม่สะเรียง โดยโรงเรียนบ้านห้วยนกกก ตั้งอยู่ห่างจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตาก เขต 2 เป็นระยะทาง 67 กิโลเมตร การเดินทางไปมาของนักเรียนในเขตบริการและนอกเขตบริการ ใช้การเดินทางเท้าและรถจักรยานเป็นบางส่วน
ในปัจจุบัน ปีการศึกษา 2552 มีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 301 คน เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้น อนุบาล 1 จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีห้องเรียนทั้งหมด 10 ห้องเรียน มีข้าราชการครูทั้งหมด 6 คน พนักงานราชการ 2 คน ครูอัตราจ้าง 2 คน ครูพี่เลี้ยงเด็ก 2 คน นักการภารโรง 1 คน และโรงเรียนบ้านห้วยนกกกยังมีโรงเรียนสาขาอีก 1 โรง คือ โรงเรียนบ้านห้วยนกกก สาขาจ่อคี ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ได้เริ่มก่อตั้งเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2542 มีพื้นที่ของโรงเรียนทั้งหมด 30 ไร่ โดยนายสุเทพ คำปาสังข์ หัวหน้าศึกษานิเทศก์สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอท่าสองยางและคณะครูโรงเรียนบ้านห้วยนกกก ได้ระดมชาวบ้านจ่อคีช่วยกันก่อสร้างโรงเรียนสาขา โดยสร้างเป็นอาคารเรียนชั่วคราว 1 หลัง มีห้องเรียน 1 ห้องเรียน และห้องพักครู 2 ห้อง
โรงเรียนบ้านห้วยนกกก สาขาจ่อคี ตั้งอยู่ห่างจากโรงเรียนบ้านห้วยนกกก เป็นระยะทาง 26 กิโลเมตร อยู่ห่างจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตาก เขต 2 เป็นระยะทาง 89 กิโลเมตร การเดินทางเดินทางโดยทางเท้า ปัจจุบันปีการศึกษา 2551 มีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 103 คน เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 1 จนถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีทั้งหมด 8 ห้องเรียน มีข้าราชการครู 2 คน ครูพี่เลี้ยง 2 คน โดยมีนายประหยัด อุสาห์รัมย์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา
วิสัยทัศน์
โรงเรียนบ้านห้วยนกกก มุ่งจัดการศึกษาให้นักเรียนมีความรู้ คู่คุณธรรม มีสุขภาพอนามัยดี มีทักษะพื้นฐานอาชีพ อนุรักษ์ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น มีทักษะการเรียนรู้เป็นผู้นำ ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างปกติสุข

เป้าหมาย
โรงเรียนบ้านห้วยนกกก มีเป้าหมายการดำเนินงานตามแผนที่กำหนดไว้ในธรรมนูญโรงเรียน (พ.ศ.2550-พ.ศ.2553)
1.โรงเรียนมีระบบการบริหารและการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ
2.โรงเรียนมีการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพในการจัดการศึกษา
3.นักเรียนมีมาตรฐานผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพของนักเรียน
4.นักเรียนมีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง มีคุณธรรมและจริยธรรม
5.พัฒนาด้านกระบวนการเรียนรู้ผ่านเกณฑ์การเรียนการสอน

พันธกิจของโรงเรียน
1.พัฒนาจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เด็กนักเรียนในพื้นที่บริการอย่างครอบคลุมและตรงตามเป้าหมาย
2.พัฒนาครูให้มีความรู้ความสามารถในทักษะและจัดการเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
3.ส่งเสริมการจัดกิจกรรมโดยให้ผู้เรียนมีคุณธรรม มีทักษะพื้นฐานงานอาชีพและมีสุขภาพดี
4.ส่งเสริมการจัดกิจกรรม อนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และภูมิปัญญาท้องถิ่น
5.พัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะการเป็นผู้นำที่ดี

กลยุทธ์หลักของโรงเรียน1.น้อมนำความรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติจริง
2.ขยายโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างกว้างขวางและทั่วถึง
3.พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับ
4.กระจายอำนาจและส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับสถานศึกษา
5.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ชุมชนภาคเอกชนรวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการศึกษา

วัตถุประสงค์
1. นักเรียนมีทักษะในการน้อมนำความรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติจริงทั้งในและนอกโรงเรียนได้อย่างเหมาะสม
ตามศักยภาพ
2. นักเรียนมีทักษะในการสร้างงานสร้างอาชีพ หารายได้ระหว่างโรงเรียนได้อย่างเหมาะสม
3. ขยายระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 , 2 , 3
4. นักเรียนทุกระดับได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึง
5. พัฒนาคุณภาพด้านการจัดการเรียนการสอนในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้
6. ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม ความสามัคคีและการทำงานเป็นหมู่คณะ โดยยึดหลักประชาธิปไตย
7. ยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาในโรงเรียนให้เป็นที่ยอมรับของนักเรียน ผู้ปกครองและชุมชน
8. เพิ่มศักยภาพในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน
9. พัฒนาคุณภาพด้านงานอนามัยและสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน
10. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ชุมชน หน่วยงานของรัฐและเยาวชนให้มีบทบาทในการสนับสนุน
และส่งเสริมการจัดการศึกษา

การนวดแผนไทย

วันพุธที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2552

หลงเทคโนโลยี


คนใช้วิทยาศาสตร์ชื่อ GIS
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ มติชนรายวัน วันที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11405
ใครๆ รวมทั้งผมคงไม่ทราบมาก่อนว่า มีงบประมาณหลายร้อยล้านบาทให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะเทศบาลได้ใช้ GIS มารู้ก็ต่อเมื่อเรื่องมันแดงออกมาแล้วว่า เขาไม่ค่อยได้ใช้มากนัก พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือโครงการนี้ล้มเหลวไม่เป็นไปตามเป้า
ส่วนเงินยังอยู่หรือหมดไปแล้วอย่างไรไม่ทราบ... แต่ผมไม่สนใจประเด็นนี้
GIS คือการทำแผนที่ดาวเทียม พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่จะจำลองภาพถ่ายดาวเทียมให้กลายเป็นแผนที่ แต่เป็นแผนที่ซึ่งละเอียดยิบ แสดงให้ดูได้ตั้งแต่ตรอกซอกซอยไปจนถึงหลังคาบ้านแต่ละหลัง ผมเข้าใจว่าคงเป็นแผนที่ Real Time ด้วย หมายความว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรในพื้นที่ ก็ปรากฏบนแผนที่ได้
หนังสือพิมพ์อธิบายว่า แผนที่อย่างนี้มีประโยชน์ในการเก็บภาษี ก็พอจะนึกออกนะครับ ว่าเป็นฐานข้อมูลที่สมบูรณ์สำหรับการเก็บภาษีที่ดิน,โรงเรือน ตลอดไปจนถึงการอนุมัติแบบก่อสร้าง ยิ่งไปกว่านี้ก็คือวางผังเมืองในอนาคตก็น่าจะสะดวกขึ้นด้วย
ไม่ว่าจะเก็บภาษี,อนุมัติแบบ หรือผังเมืองล้วนเป็นการกระทำแก่พื้นที่ เช่นภาษีโรงเรือนก็เก็บจากขนาดของโรงเรือน,แบบก่อสร้างก็อนุมัติจากพิมพ์เขียวและดูจากสภาพแวดล้อมในพื้นที่ซึ่งจะก่อสร้าง,ผังเมืองคือจัดให้พื้นที่ของเมืองถูกใช้อย่างไร
ทั้งหมดนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับคนเลย เป็นการบริหารพื้นที่ ไม่ใช่บริหารคน
ก็มีความสำคัญนะครับ ถึงอย่างไรองค์กรปกครองก็ต้องบริหารพื้นที่ด้วย แต่การบริหารพื้นที่นั้นควรจะกระทำโดยมีคนเป็นเป้าหมาย ผมหมายถึงคนจริงๆ ที่ชื่อนางแดง,นายดำ,ผมหยิก,หน้าก้อ ไม่ใช่"ประชาชน"ที่มองไม่เห็นตัว
แต่แผนที่ซึ่งมีคนอยู่ในนั้น ดาวเทียมทำให้ไม่ได้หรอกครับ เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้เราสามารถจำลองพื้นที่ออกมาให้ตรงกับความจริงได้เป๊ะ แต่เป็นพื้นที่ทางกายภาพ ไม่ใช่พื้นที่ของกิจกรรมซึ่งคนเป็นผู้กระทำ
ผมเคยอ่านหนังสือการทำแผนที่หมู่บ้านของ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ท่านเขียนขึ้นเพื่อแนะนำคนทำงานสาธารณสุขในหมู่บ้านว่า สิ่งแรกที่ควรทำคือทำแผนที่ของหมู่บ้าน เพราะนอกจากจะได้ข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่แล้ว ยังได้ข้อมูลเกี่ยวกับคนในหมู่บ้านด้วย และข้อมูลอันหลังนี่แหละครับ เป็นหัวใจสำคัญของการทำงานด้านสาธารณสุขทีเดียว (ที่จริงด้านอื่นๆ ก็เหมือนกัน)
วิธีทำซึ่งอาจารย์โกมาตรแนะนำไว้นี่แหละครับที่สำคัญมาก เพราะแทนที่จะอาศัยเทคโนโลยีเช่นส่องกล้องและวัดด้วยสายเมตร ก็ให้กะๆ เอาเอง เพราะวิธีทำคือการออกเดินเพื่อจำลองพื้นที่ของหมู่บ้านเป็นแผนที่ (หรือแผนผัง) และเพราะต้องเดินนี่แหละครับ แผนที่จึงบอกกิจกรรมของมนุษย์บนพื้นที่นั้น ตรงนั้นเขาใช้เลี้ยงวัว, ตรงโน้นเขาปลูกถั่วในหน้าแล้ง,ตรงนู้นเป็นบ่อน้ำสาธารณะ,และตาน้ำตรงนี้ชาวบ้านเชื่อกันว่าได้น้ำกินที่อร่อยที่สุด ฯลฯ
ไม่ใช่แค่กิจกรรมของมนุษย์ ท่านแนะนำให้คุยกับชาวบ้าน จึงทำให้รู้ว่าใครซึ่งเป็นคนๆ ไปนั้น ใช้พื้นที่แต่ละแห่งอย่างไร พื้นที่เดียวกันคนหนึ่งใช้อย่างหนึ่ง อีกคนหนึ่งใช้อีกอย่างหนึ่งก็ได้ แถมเมื่อคุยกับชาวบ้านมากขึ้น ก็ทำให้รู้จักคนแต่ละคนว่า เขามีปัญหาในชีวิตอย่างไร ใฝ่ฝันอะไร และความสัมพันธ์ของเขากับคนอื่นในหมู่บ้านเป็นอย่างไร
ข้อมูลเหล่านี้บอกสาเหตุของโรค,การแพร่ระบาดของโรค,ความเสี่ยงของโรคภัยไข้เจ็บ,การป้องกันรักษา ฯลฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ต้องเพียงแต่นั่งรอว่าใครป่วยก็ไปหาทีหนึ่ง
นอกจากนี้กิจกรรมด้านสาธารณสุขไม่ได้อยู่ลอยๆ มันสัมพันธ์กับกิจกรรมด้านอื่นๆ ของมนุษย์ การทำแผนที่แบบนี้ทำให้มองเห็นสุขภาพของแต่ละคนอย่างเชื่อมโยงเป็นองค์รวม-กับการทำมาหากิน, สถานะทางสังคมของเขา,ความสัมพันธ์ของเขากับคนอื่นๆ ในสังคม,ความเชื่อและอคติของเขา ฯลฯ
ขยับจากระดับหมู่บ้านขึ้นมาสู่ระดับตำบล จะใช้วิธีทำแผนที่เช่นนี้กับระดับตำบลได้หรือไม่ ผมคิดว่าได้ และหากสมาชิก อบต.ในประเทศไทยรู้จักคนในพื้นที่ของตนได้ดีเท่านี้ ผมเชื่อว่า อบต.ก็จะมองเห็นปัญหาเร่งด่วนจำนวนมากที่น่าจะเข้าไปจัดการ เป็นปัญหาที่เขามองเห็นเองจากพื้นที่ของเขา ไม่ใช่ปัญหาที่ส่วนกลางส่งต่อมาให้เขา อบต.ใช้งบประมาณลงไปในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานซ้ำแล้วซ้ำอีกมาหลายปี ก็เพราะ อบต.ก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไรเหมือนกัน ที่ไม่รู้ว่าจะทำอะไร ก็เพราะไม่รู้จักผู้คนในพื้นที่ของตนดีพอ ใครๆ ก็อยากได้ถนนปูนไปถึงหน้าบ้าน,อยากได้น้ำประปาที่ไม่ขาดในหน้าแล้ง,อยากได้ไฟถนน ฯลฯ อบต.จึงเลือกทำสิ่งที่อย่างไรเสียชาวบ้านก็น่าจะพอใจก่อนเป็นธรรมดา
ขยับมาถึงระดับเทศบาล จะใช้วิธีทำแผนที่เช่นนี้ได้หรือไม่ ผมก็ยังเห็นว่าได้อยู่นั่นเอง เพียงแต่ต้องปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่างให้เป็นไปได้กับผู้คนจำนวนมากในเขตเทศบาล ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ทำแผนที่เพื่อรู้จักคน ไม่ใช่ทำแผนที่เพื่อรู้จักพื้นที่เพียงอย่างเดียว
แน่นอนว่าการสำรวจผู้คนอย่างกว้างขวางเช่นนี้ ย่อมต้องใช้เงิน จะมากกว่าหรือน้อยกว่าระบบ GIS นั้น ผมไม่ทราบ แต่ผมเชื่อว่าข้อมูลที่ได้มาจะมีประโยชน์ในการบริหารท้องถิ่นมากกว่าแผนที่ GIS อย่างเทียบกันไม่ได้ ประกาศห้ามจอดรถบนถนนบางสายของเทศบาล หากมาจากแผนที่ GIS เกิดขึ้นจากปริมาณของรถบนท้องถนนเท่านั้น แต่หากมาจากแผนที่แบบคุณหมอโกมาตร ก็จำเป็นต้องผนวกเอากิจกรรมของชาวบ้านบนถนนสายนั้นเข้าไปด้วย กฎห้ามจอดรถก็จะมีความยืดหยุ่นกว่า เพราะเอื้อต่อเป้าหมายหลายประเภทมากขึ้น
ไม่มีใครได้อะไรทั้งหมด และไม่มีใครเสียอะไรทั้งหมด...สังคมที่เอื้อเฟื้ออาทรต่อกัน ไม่ได้เกิดจากน้ำลายของปูชนียบุคคล แต่เกิดจากการอยู่ร่วมกันที่ต่างได้บ้างเสียบ้างอย่างนี้แหละครับ
เทศบาลใดที่บริหารงานด้วยแผนที่แบบคุณหมอโกมาตร จะปฏิวัติการบริหารงานท้องถิ่นอย่างมโหฬาร และผมแน่ใจว่า จะดึงคนจำนวนมากออกมาสู่คูหาเลือกตั้งเพื่อสนับสนุนผู้บริหารแบบนี้ (ในขณะที่ปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่ของประชากรไม่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเทศบาล จึงเปิดโอกาสให้คะแนนจัดตั้งเป็นตัวตัดสิน)
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบแผนที่ GIS กับแผนที่ของคุณหมอโกมาตร ผมเชื่อว่าผู้บริหารระดับสูงในเมืองไทยจะเลือกแผนที่ GIS เสมอ เพราะ GIS คือเทคโนโลยีล่าสุดของการทำแผนที่
คนมีการศึกษาไทยซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูง รวมทั้งคนชั้นกลางระดับกลางของไทยด้วย พอใจอะไรที่เป็นเทคโนโลยีก้าวหน้า ทั้งนี้เพราะไม่รู้จักเทคโนโลยีจริง จึงมักหลงเทคโนโลยี
อันที่จริงเทคโนโลยีคือการแก้ปัญหา ฉะนั้นจึงต้องรู้ให้ชัดว่าปัญหาของเราคืออะไร จะได้เลือกเทคโนโลยีได้ถูก กรมการปกครองซึ่งเป็นผู้ผลักดันงบประมาณก้อนนี้ คิดว่าปัญหาขององค์กรปกครองท้องถิ่นของเราคือการเก็บภาษีได้ไม่ครบถ้วนเท่านั้นเองหรือ ไม่ใช่ปัญหาที่ว่าองค์กรปกครองของเราใช้งบประมาณและภาษีที่เก็บได้ไปในทางที่ไม่บำบัดทุกข์ของชาวบ้านหรอกหรือ
เทคโนโลยีสมัยใหม่นั้น ไม่ใช่ไม่ดีในตัวของมันเอง แต่มันมักไม่ตอบปัญหาที่มีความสลับซับซ้อน เพราะมันให้คำตอบมิติเดียว เช่นมิติทางกายภาพของพื้นที่ ไม่มีคนและไม่มีกิจกรรมของคนอยู่ในนั้น
ผมยอมรับว่า เราชอบลงทุนกับเทคโนโลยีก้าวหน้า เพราะมีค่าคอมมิสชั่นอยู่ในนั้น แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับว่า "ลูกค้า"ของผู้บริหารระดับสูง (ทั้งข้าราชการและนักการเมือง) เช่นสื่อและคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไป หลงใหลเทคโนโลยี มองเทคโนโลยีเหมือนคนใช้วิทยาศาสตร์ มันทำอะไรให้เราหมด โดยเราไม่ต้องขยับตัวทำอะไรเลย
แม้แต่เลือกนักการเมืองมาบริหารประเทศ ก็เลือกเหมือนเลือกคนใช้วิทยาศาสตร์ คือได้คนเก่งคนดีมาบริหารบ้านเมือง โดยไม่ต้องขยับเข้าไปกำกับควบคุมให้บริหารไปในทางที่เราคิดว่าดีและถูกต้อง
ระบบ GIS คือ
ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System นิยมย่อว่า GIS) คือ กระบวนการทำงานเกี่ยวกับข้อมูลในเชิงพื้นที่ (spatial data) ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ โดยการกำหนดข้อมูลเชิงบรรยาย (attribute data) และสารสนเทศ เช่น ที่อยู่ บ้านเลขที่ ที่มีความสัมพันธ์กับตำแหน่งในเชิงพื้นที่ เช่น ตำแหน่ง เส้นรุ้ง เส้นแวง ในรูปของ ตารางข้อมูล และ ฐานข้อมูล
ระบบ GIS ประกอบไปด้วยชุดของเครื่องมือที่มีความสามารถในการเก็บรวบรวม รักษาและการค้นข้อมูล เพื่อจัดเตรียม ปรับแต่ง วิเคราะห์และการแสดงผลข้อมูลเชิงพื้นที่ เพื่อให้สอดคล้องตามวัตถุประสงค์การใช้งาน ซึ่งรูปแบบและความสัมพันธ์ของข้อมูลเชิงพื้นที่ทั้งหลาย จะสามารถนำมาวิเคราะห์ด้วย GIS ให้สื่อความหมายในเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่สัมพันธ์กับช่วงเวลาได้ ใช้เป็นเช่น
การแพร่ขยายของโรคระบาด
การเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน
การบุกรุกทำลาย
การเปลี่ยนแปลงของการใช้พื้นที่
ข้อมูลเหล่านี้ เมื่อปรากฏบนแผนที่ทำให้สามารถแปล สื่อความหมาย และนำไปใช้งานได้ง่ายข้อมูลใน GIS ทั้งข้อมูลเชิงพื้นที่และข้อมูลเชิงบรรยาย สามารถอ้างอิงถึงตำแหน่งที่มีอยู่จริงบนพื้นโลกได้โดยอาศัยระบบพิกัดทางภูมิศาสตร์ (geocode) ซึ่งจะสามารถอ้างอิงได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ข้อมูลใน GIS ที่อ้างอิงกับพื้นผิวโลกโดยตรง หมายถึง ข้อมูลที่มีค่าพิกัดหรือมีตำแหน่งจริงบนพื้นโลกหรือในแผนที่ เช่น ตำแหน่งอาคาร ถนน ฯลฯ สำหรับข้อมูล GIS ที่จะอ้างอิงกับข้อมูลบนพื้นโลกได้โดยทางอ้อมได้แก่ ข้อมูลของบ้าน (รวมถึงบ้านเลขที่ ซอย เขต แขวง จังหวัด และรหัสไปรษณีย์) โดยจากข้อมูลที่อยู่ เราสามารถทราบได้ว่าบ้านหลังนี้มีตำแหน่งอยู่ ณ ที่ใดบนพื้นโลก เนื่องจากบ้านทุกหลังจะมีที่อยู่ไม่ซ้ำกัน
องค์ประกอบหลักของระบบ GIS
องค์ประกอบหลักของระบบ GIS จัดแบ่งออกเป็น 5 ส่วนใหญ่ ๆ คือ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (hardware) โปรแกรม (software) ขั้นตอนการทำงาน (methods) ข้อมูล (data) และบุคลากร (people) โดยมีรายละเอียดของแต่ละองค์ประกอบดังต่อไปนี้
1. อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ คือ เครื่องคอมพิวเตอร์รวมไปถึงอุปกรณ์ต่อพ่วงต่าง ๆ เช่น ดิจิไทเซอร์ สแกนเนอร์ เครื่องพิมพ์ หรืออื่น ๆ เพื่อใช้ในการนำเข้าข้อมูล ประมวลผล แสดงผล และผลิตผลลัพธ์ของการทำงาน
2. โปรแกรม คือชุดของคำสั่งสำเร็จรูป เช่น โปรแกรม Arc/Info, MapInfo ฯลฯ ซึ่งประกอบด้วยฟังก์ชัน การทำงานและเครื่องมือที่จำเป็นต่าง ๆ สำหรับนำเข้าและปรับแต่งข้อมูล, จัดการระบบฐานข้อมูล, เรียกค้น, วิเคราะห์ และ จำลองภาพ
3. ข้อมูล คือข้อมูลต่าง ๆ ที่จะใช้ในระบบ GIS และถูกจัดเก็บในรูปแบบของฐานข้อมูล โดยได้รับการดูแลจากระบบจัดการฐานข้อมูลหรือ DBMS ข้อมูลจะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญรองลงมาจากบุคลากร
4. บุคลากร คือ ผู้ปฏิบัติงานซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ เช่น ผู้นำเข้าข้อมูล ช่างเทคนิค ผู้ดูแลระบบฐานข้อมูล ผู้เชี่ยวชาญสำหรับวิเคราะห์ข้อมูล ผู้บริหารซึ่งต้องใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ บุคลากรจะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในระบบ GIS เนื่องจากถ้าขาดบุคลากร ข้อมูลที่มีอยู่มากมายมหาศาลนั้น ก็จะเป็นเพียงขยะไม่มีคุณค่าใดเลยเพราะไม่ได้ถูกนำไปใช้งาน อาจจะกล่าวได้ว่า ถ้าขาดบุคลากรก็จะไม่มีระบบ GIS
5. วิธีการหรือขั้นตอนการทำงาน คือวิธีการที่องค์กรนั้น ๆ นำเอาระบบ GIS ไปใช้งานโดยแต่ละ ระบบแต่ละองค์กรย่อมีความแตกต่างกันออกไป ฉะนั้นผู้ปฏิบัติงานต้องเลือกวิธีการในการจัดการกับปัญหาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับของหน่วยงานนั้น ๆ เอง
GIS ทำงานอย่างไร
ภาระหน้าที่หลัก ๆ ของระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์มีอยู่ด้วยกัน 5 อย่างดังนี้
1. การนำเข้าข้อมูล (input) ก่อนที่ข้อมูลทางภูมิศาสตร์จะถูกใช้งานได้ในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ข้อมูลจะต้องได้รับการแปลง ให้มาอยู่ในรูปแบบของข้อมูล เชิงตัวเลข (digital format) เสียก่อน เช่น จากแผนที่กระดาษไปสู่ข้อมูลใน รูปแบบดิจิตอลหรือแฟ้มข้อมูลบนเครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์ที่ใช้ในการนำเข้าเช่น Digitizer Scanner หรือ Keyboard เป็นต้น
2. การปรับแต่งข้อมูล (manipulation) ข้อมูลที่ได้รับเข้าสู่ระบบบางอย่างจำเป็นต้องได้รับการปรับแต่งให้เหมาะสมกับงาน เช่น ข้อมูลบางอย่างมีขนาด หรือสเกล (scale) ที่แตกต่างกัน หรือใช้ระบบพิกัดแผนที่ที่แตกต่างกัน ข้อมูลเหล่านี้จะต้องได้รับการปรับให้อยู่ใน ระดับเดียวกันเสียก่อน
3. การบริหารข้อมูล (management) ระบบจัดการฐานข้อมูลหรือ DBMS จะถูกนำมาใช้ในการบริหารข้อมูลเพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพในระบบ GIS DBMS ที่ได้รับการเชื่อถือและนิยมใช้กันอย่างกว้างขวางที่สุดคือ DBMS แบบ Relational หรือระบบจัดการฐานข้อมูลแบบสัมพัทธ์ (DBMS) ซึ่งมีหลักการทำงานพื้นฐาน ดังนี้คือ ข้อมูลจะถูกจัดเก็บ ในรูปของตารางหลาย ๆ ตาราง
4. การเรียกค้นและวิเคราะห์ข้อมูล (query and analysis) เมื่อระบบ GIS มีความพร้อมในเรื่องของข้อมูลแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ การนำข้อมูลเหล่านี่มาใช้ให้เกิด ประโยชน์ เช่น ใครคือเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินผืนที่ติดกับโรงเรียน? เมืองสองเมืองนี้มีระยะห่างกันกี่กิโลเมตร? ดินชนิดใดบ้างที่เหมาะสำหรับปลูกอ้อย? หรือ ต้องมีการสอบถามอย่างง่าย ๆ เช่น ชี้เมาส์ไปในบริเวณที่ต้องการแล้วเลือก (point and click) เพื่อสอบถามหรือเรียกค้นข้อมูล นอกจากนี้ระบบ GIS ยังมีเครื่องมือในการวิเคราะห์ เช่น การวิเคราะห์เชิงประมาณค่า (proximity หรือ buffer) การวิเคราะห์เชิงซ้อน (overlay analysis) เป็นต้น
5. การนำเสนอข้อมูล (visualization) จากการดำเนินการเรียกค้นและวิเคราะห์ข้อมูล ผลลัพธ์ที่ได้จะอยู่ในรูปของตัวเลขหรือตัวอักษร ซึ่งยากต่อการตีความหมายหรือทำความเข้าใจ การนำเสนอข้อมูลที่ดี เช่น การแสดงชาร์ต (chart) แบบ 2 มิติ หรือ 3 มิติ รูปภาพจากสถานที่จริง ภาพเคลื่อนไหว แผนที่ หรือแม้กระทั่งระบบมัลติมีเดีย สื่อต่าง ๆ เหล่านี้จะทำให้ผู้ใช้เข้าใจความหมายและมองภาพของผลลัพธ์ที่กำลังนำเสนอได้ดียิ่งขึ้นอีก
ลักษณะข้อมูลในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์
โลกมีความสลับซับซ้อนมากเกินกว่าที่จะเก็บข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับโลกไว้ในรูปข้อมูลด้วยระบบคอมพิวเตอร์ จึงต้องเปลี่ยนปรากฏการณ์บน ผิวโลกจัดเก็บในรูปของตัวเลขเชิงรหัส (digital form) โดยแทนปรากฏการณ์เหล่านั้นด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เรียกว่า Feature
ประเภทของ Feature
ลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เป็นตัวแทนของปรากฏการณ์ทางภูมิศาสตร์บนโลกแผนที่กระดาษบันทึกตำแหน่งทางภูมิศาสตร์และแทนสิ่งต่างๆ บนโลกที่เป็นลายเส้นและพื้นที่ด้วยสัญลักษณ์แบบ จุด เส้น พื้นที่และตัวอักษร ในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์จะใช้ feature ประเภทต่างๆ ในการแทนปรากฏการณ์โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
จุด (point)
เส้น (arc)
โพลีกอน (polygon)

บล็อก คือ ...?

Blog มาจากศัพท์คำเต็มว่า WeBlog บางท่านอ่านว่า We-Blog บางท่านอ่านว่า Web-Log อย่างไรก็ตาม ทั้งสองคำบ่งบอกถึงความหมายเดียวกัน นั่นก็คือบล็อก (Blog)
Blog เป็นการบันทึกบทความของตนเอง (Personal Journal) ลงบนเว็บไซต์ โดยเนื้อหาของ blog นั้นจะครอบคลุมได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวส่วนตัว หรือเฉพาะด้าน เช่น กีฬา การเมือง ท่องเที่ยว ธุรกิจ เป็นต้น โดยจุดเด่นที่ทำให้บล็อกเป็นที่นิยมก็คือ ผู้เขียนบล็อก จะมีการแสดงความคิดเห็นของตนเอง ใส่ลงไปในบทความนั้น ๆ โดยบล็อกบางแห่ง จะมีอิทธิพลในการโน้มน้าวจิตใจผู้อ่านสูงมาก แต่ในขณะเดียวกัน บางบล็อกก็จะเขียนขึ้นมาเพื่อให้อ่านกันในกลุ่มเฉพาะ เช่นกลุ่มเพื่อน ๆ หรือครอบครัวตนเอง
มีหลายครั้งที่เกิดความเข้าใจกันผิดว่า Blog เป็นได้แค่ไดอารี่ออนไลน์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไดอารี่ออนไลน์เปรียบเสมือน เนื้อหาประเภทหนึ่งของบล็อกเท่านั้น เพราะบล็อกมีเนื้อหาที่หลากหลายประเภท ตั้งแต่การบันทึกเรื่องส่วนตัวอย่างเช่นไดอารี่ หรือการบันทึกบทความที่ผู้เขียนบล็อกสนใจในด้านอื่นด้วย ที่เห็นชัดเจนคือ เนื้อหาบล็อกประเภท วิจารณ์การเมือง หรือการรีวิวผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ตัวเองเคยใช้ หรือซื้อมานั่นเอง อีกทั้งยังสามารถ แตกแขนงไปในเนื้อหาในประเภทต่าง ๆ อีกมากมาย ตามแต่ความถนัดของเจ้าของบล็อก ซึ่งมักจะเขียนบทความเรื่องที่ตนเองถนัด หรือสนใจเป็นต้น
จุดเด่นที่สุดของ Blog ก็คือ มันสามารถเป็นเครื่องมือสื่อสารชนิดหนึ่ง ที่สามารถสื่อถึงความเป็นกันเองระหว่างผู้เขียนบล็อก และผู้อ่านบล็อกที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ที่ชัดเจนของบล็อกนั้น ๆ ผ่านทางระบบ comment ของบล็อกนั่นเอง
ในอดีตแรกเริ่ม คนที่เขียน Blog นั้นยังทำกันในระบบ Manual คือเขียนเว็บเองทีละหน้า แต่ในปัจจุบันนี้ มีเครื่องมือหรือซอฟท์แวร์ให้เราใช้ในการเขียน Blog ได้มากมาย เช่น WordPress, Movable Type เป็นต้น
ผู้คนหลายล้านคนจากทั่วทุกมุมโลก หันมาเขียน Blog กันอย่างแพร่หลาย ตั้งแต่นักเรียน อาจารย์ นักเขียน ตลอดจนถึงระดับบริษัทยักษ์ใหญ่ในตลาดหุ้น NasDaq
เมื่อสองสามปีที่ผ่านมา Blog เริ่มต้นมาจาก การเขียนเป็นงานอดิเรก ของกลุ่มสื่ออิสระต่าง ๆ หลาย ๆ แห่งกลายเป็นแหล่งข่าวสำคัญ ให้กับหนังสือพิมพ์หรือสำนักข่าวชั้นนำ จวบจนกระทั่งปี 2004 คนเขียน Blog ก็ได้รับการยอมรับจากสื่อและสำนักข่าวต่าง ๆ ถึงความรวดเร็วในการให้ข้อมูล ตั้งแต่เรื่องการเมือง ไปจนกระทั่ง เรื่องราวของการประชุม ระดับชาติ
และจากเหตุการณ์เหล่านี้ นับได้ว่า Blog เป็นสื่อชนิดหนึ่งที่ไม่ต่างจาก วีดีโอ สิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ หรือแม้กระทั่งวิทยุ เราสามารถเรียกได้ว่า Blog ได้เข้ามาเป็นสื่อชนิดใหม่ ที่สำคัญอย่างแท้จริง
สรุปให้ง่ายๆ สั้นๆ ก็คือ Blog คือเว็บไซต์ ที่มีรูปแบบเนื้อหา เป็นเหมือนบันทึกส่วนตัวออนไลน์ มีส่วนของการ comments และก็จะมี link ไปยังเว็บอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย
…………………………………………………….reference : keng.com