วันพุธที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2552

หลงเทคโนโลยี


คนใช้วิทยาศาสตร์ชื่อ GIS
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ มติชนรายวัน วันที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11405
ใครๆ รวมทั้งผมคงไม่ทราบมาก่อนว่า มีงบประมาณหลายร้อยล้านบาทให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะเทศบาลได้ใช้ GIS มารู้ก็ต่อเมื่อเรื่องมันแดงออกมาแล้วว่า เขาไม่ค่อยได้ใช้มากนัก พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือโครงการนี้ล้มเหลวไม่เป็นไปตามเป้า
ส่วนเงินยังอยู่หรือหมดไปแล้วอย่างไรไม่ทราบ... แต่ผมไม่สนใจประเด็นนี้
GIS คือการทำแผนที่ดาวเทียม พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่จะจำลองภาพถ่ายดาวเทียมให้กลายเป็นแผนที่ แต่เป็นแผนที่ซึ่งละเอียดยิบ แสดงให้ดูได้ตั้งแต่ตรอกซอกซอยไปจนถึงหลังคาบ้านแต่ละหลัง ผมเข้าใจว่าคงเป็นแผนที่ Real Time ด้วย หมายความว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรในพื้นที่ ก็ปรากฏบนแผนที่ได้
หนังสือพิมพ์อธิบายว่า แผนที่อย่างนี้มีประโยชน์ในการเก็บภาษี ก็พอจะนึกออกนะครับ ว่าเป็นฐานข้อมูลที่สมบูรณ์สำหรับการเก็บภาษีที่ดิน,โรงเรือน ตลอดไปจนถึงการอนุมัติแบบก่อสร้าง ยิ่งไปกว่านี้ก็คือวางผังเมืองในอนาคตก็น่าจะสะดวกขึ้นด้วย
ไม่ว่าจะเก็บภาษี,อนุมัติแบบ หรือผังเมืองล้วนเป็นการกระทำแก่พื้นที่ เช่นภาษีโรงเรือนก็เก็บจากขนาดของโรงเรือน,แบบก่อสร้างก็อนุมัติจากพิมพ์เขียวและดูจากสภาพแวดล้อมในพื้นที่ซึ่งจะก่อสร้าง,ผังเมืองคือจัดให้พื้นที่ของเมืองถูกใช้อย่างไร
ทั้งหมดนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับคนเลย เป็นการบริหารพื้นที่ ไม่ใช่บริหารคน
ก็มีความสำคัญนะครับ ถึงอย่างไรองค์กรปกครองก็ต้องบริหารพื้นที่ด้วย แต่การบริหารพื้นที่นั้นควรจะกระทำโดยมีคนเป็นเป้าหมาย ผมหมายถึงคนจริงๆ ที่ชื่อนางแดง,นายดำ,ผมหยิก,หน้าก้อ ไม่ใช่"ประชาชน"ที่มองไม่เห็นตัว
แต่แผนที่ซึ่งมีคนอยู่ในนั้น ดาวเทียมทำให้ไม่ได้หรอกครับ เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้เราสามารถจำลองพื้นที่ออกมาให้ตรงกับความจริงได้เป๊ะ แต่เป็นพื้นที่ทางกายภาพ ไม่ใช่พื้นที่ของกิจกรรมซึ่งคนเป็นผู้กระทำ
ผมเคยอ่านหนังสือการทำแผนที่หมู่บ้านของ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ท่านเขียนขึ้นเพื่อแนะนำคนทำงานสาธารณสุขในหมู่บ้านว่า สิ่งแรกที่ควรทำคือทำแผนที่ของหมู่บ้าน เพราะนอกจากจะได้ข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่แล้ว ยังได้ข้อมูลเกี่ยวกับคนในหมู่บ้านด้วย และข้อมูลอันหลังนี่แหละครับ เป็นหัวใจสำคัญของการทำงานด้านสาธารณสุขทีเดียว (ที่จริงด้านอื่นๆ ก็เหมือนกัน)
วิธีทำซึ่งอาจารย์โกมาตรแนะนำไว้นี่แหละครับที่สำคัญมาก เพราะแทนที่จะอาศัยเทคโนโลยีเช่นส่องกล้องและวัดด้วยสายเมตร ก็ให้กะๆ เอาเอง เพราะวิธีทำคือการออกเดินเพื่อจำลองพื้นที่ของหมู่บ้านเป็นแผนที่ (หรือแผนผัง) และเพราะต้องเดินนี่แหละครับ แผนที่จึงบอกกิจกรรมของมนุษย์บนพื้นที่นั้น ตรงนั้นเขาใช้เลี้ยงวัว, ตรงโน้นเขาปลูกถั่วในหน้าแล้ง,ตรงนู้นเป็นบ่อน้ำสาธารณะ,และตาน้ำตรงนี้ชาวบ้านเชื่อกันว่าได้น้ำกินที่อร่อยที่สุด ฯลฯ
ไม่ใช่แค่กิจกรรมของมนุษย์ ท่านแนะนำให้คุยกับชาวบ้าน จึงทำให้รู้ว่าใครซึ่งเป็นคนๆ ไปนั้น ใช้พื้นที่แต่ละแห่งอย่างไร พื้นที่เดียวกันคนหนึ่งใช้อย่างหนึ่ง อีกคนหนึ่งใช้อีกอย่างหนึ่งก็ได้ แถมเมื่อคุยกับชาวบ้านมากขึ้น ก็ทำให้รู้จักคนแต่ละคนว่า เขามีปัญหาในชีวิตอย่างไร ใฝ่ฝันอะไร และความสัมพันธ์ของเขากับคนอื่นในหมู่บ้านเป็นอย่างไร
ข้อมูลเหล่านี้บอกสาเหตุของโรค,การแพร่ระบาดของโรค,ความเสี่ยงของโรคภัยไข้เจ็บ,การป้องกันรักษา ฯลฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ต้องเพียงแต่นั่งรอว่าใครป่วยก็ไปหาทีหนึ่ง
นอกจากนี้กิจกรรมด้านสาธารณสุขไม่ได้อยู่ลอยๆ มันสัมพันธ์กับกิจกรรมด้านอื่นๆ ของมนุษย์ การทำแผนที่แบบนี้ทำให้มองเห็นสุขภาพของแต่ละคนอย่างเชื่อมโยงเป็นองค์รวม-กับการทำมาหากิน, สถานะทางสังคมของเขา,ความสัมพันธ์ของเขากับคนอื่นๆ ในสังคม,ความเชื่อและอคติของเขา ฯลฯ
ขยับจากระดับหมู่บ้านขึ้นมาสู่ระดับตำบล จะใช้วิธีทำแผนที่เช่นนี้กับระดับตำบลได้หรือไม่ ผมคิดว่าได้ และหากสมาชิก อบต.ในประเทศไทยรู้จักคนในพื้นที่ของตนได้ดีเท่านี้ ผมเชื่อว่า อบต.ก็จะมองเห็นปัญหาเร่งด่วนจำนวนมากที่น่าจะเข้าไปจัดการ เป็นปัญหาที่เขามองเห็นเองจากพื้นที่ของเขา ไม่ใช่ปัญหาที่ส่วนกลางส่งต่อมาให้เขา อบต.ใช้งบประมาณลงไปในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานซ้ำแล้วซ้ำอีกมาหลายปี ก็เพราะ อบต.ก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไรเหมือนกัน ที่ไม่รู้ว่าจะทำอะไร ก็เพราะไม่รู้จักผู้คนในพื้นที่ของตนดีพอ ใครๆ ก็อยากได้ถนนปูนไปถึงหน้าบ้าน,อยากได้น้ำประปาที่ไม่ขาดในหน้าแล้ง,อยากได้ไฟถนน ฯลฯ อบต.จึงเลือกทำสิ่งที่อย่างไรเสียชาวบ้านก็น่าจะพอใจก่อนเป็นธรรมดา
ขยับมาถึงระดับเทศบาล จะใช้วิธีทำแผนที่เช่นนี้ได้หรือไม่ ผมก็ยังเห็นว่าได้อยู่นั่นเอง เพียงแต่ต้องปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่างให้เป็นไปได้กับผู้คนจำนวนมากในเขตเทศบาล ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ทำแผนที่เพื่อรู้จักคน ไม่ใช่ทำแผนที่เพื่อรู้จักพื้นที่เพียงอย่างเดียว
แน่นอนว่าการสำรวจผู้คนอย่างกว้างขวางเช่นนี้ ย่อมต้องใช้เงิน จะมากกว่าหรือน้อยกว่าระบบ GIS นั้น ผมไม่ทราบ แต่ผมเชื่อว่าข้อมูลที่ได้มาจะมีประโยชน์ในการบริหารท้องถิ่นมากกว่าแผนที่ GIS อย่างเทียบกันไม่ได้ ประกาศห้ามจอดรถบนถนนบางสายของเทศบาล หากมาจากแผนที่ GIS เกิดขึ้นจากปริมาณของรถบนท้องถนนเท่านั้น แต่หากมาจากแผนที่แบบคุณหมอโกมาตร ก็จำเป็นต้องผนวกเอากิจกรรมของชาวบ้านบนถนนสายนั้นเข้าไปด้วย กฎห้ามจอดรถก็จะมีความยืดหยุ่นกว่า เพราะเอื้อต่อเป้าหมายหลายประเภทมากขึ้น
ไม่มีใครได้อะไรทั้งหมด และไม่มีใครเสียอะไรทั้งหมด...สังคมที่เอื้อเฟื้ออาทรต่อกัน ไม่ได้เกิดจากน้ำลายของปูชนียบุคคล แต่เกิดจากการอยู่ร่วมกันที่ต่างได้บ้างเสียบ้างอย่างนี้แหละครับ
เทศบาลใดที่บริหารงานด้วยแผนที่แบบคุณหมอโกมาตร จะปฏิวัติการบริหารงานท้องถิ่นอย่างมโหฬาร และผมแน่ใจว่า จะดึงคนจำนวนมากออกมาสู่คูหาเลือกตั้งเพื่อสนับสนุนผู้บริหารแบบนี้ (ในขณะที่ปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่ของประชากรไม่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเทศบาล จึงเปิดโอกาสให้คะแนนจัดตั้งเป็นตัวตัดสิน)
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบแผนที่ GIS กับแผนที่ของคุณหมอโกมาตร ผมเชื่อว่าผู้บริหารระดับสูงในเมืองไทยจะเลือกแผนที่ GIS เสมอ เพราะ GIS คือเทคโนโลยีล่าสุดของการทำแผนที่
คนมีการศึกษาไทยซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูง รวมทั้งคนชั้นกลางระดับกลางของไทยด้วย พอใจอะไรที่เป็นเทคโนโลยีก้าวหน้า ทั้งนี้เพราะไม่รู้จักเทคโนโลยีจริง จึงมักหลงเทคโนโลยี
อันที่จริงเทคโนโลยีคือการแก้ปัญหา ฉะนั้นจึงต้องรู้ให้ชัดว่าปัญหาของเราคืออะไร จะได้เลือกเทคโนโลยีได้ถูก กรมการปกครองซึ่งเป็นผู้ผลักดันงบประมาณก้อนนี้ คิดว่าปัญหาขององค์กรปกครองท้องถิ่นของเราคือการเก็บภาษีได้ไม่ครบถ้วนเท่านั้นเองหรือ ไม่ใช่ปัญหาที่ว่าองค์กรปกครองของเราใช้งบประมาณและภาษีที่เก็บได้ไปในทางที่ไม่บำบัดทุกข์ของชาวบ้านหรอกหรือ
เทคโนโลยีสมัยใหม่นั้น ไม่ใช่ไม่ดีในตัวของมันเอง แต่มันมักไม่ตอบปัญหาที่มีความสลับซับซ้อน เพราะมันให้คำตอบมิติเดียว เช่นมิติทางกายภาพของพื้นที่ ไม่มีคนและไม่มีกิจกรรมของคนอยู่ในนั้น
ผมยอมรับว่า เราชอบลงทุนกับเทคโนโลยีก้าวหน้า เพราะมีค่าคอมมิสชั่นอยู่ในนั้น แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับว่า "ลูกค้า"ของผู้บริหารระดับสูง (ทั้งข้าราชการและนักการเมือง) เช่นสื่อและคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไป หลงใหลเทคโนโลยี มองเทคโนโลยีเหมือนคนใช้วิทยาศาสตร์ มันทำอะไรให้เราหมด โดยเราไม่ต้องขยับตัวทำอะไรเลย
แม้แต่เลือกนักการเมืองมาบริหารประเทศ ก็เลือกเหมือนเลือกคนใช้วิทยาศาสตร์ คือได้คนเก่งคนดีมาบริหารบ้านเมือง โดยไม่ต้องขยับเข้าไปกำกับควบคุมให้บริหารไปในทางที่เราคิดว่าดีและถูกต้อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น